อาหารหลักหมู่ที่ 5 ได้แก่ พวกไขมันและน้ำมันพืชต่างๆ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ยังมีแทรกอยู่ในอาหารประเภทอื่นๆเช่น ถั่วลิสงแห้งจะมีไขมันสูงมาก เนื้อสัตว์แทบทุกชนิดมีไขมันแทรกอยู่ ไขมันและน้ำมันทุกชนิดให้คุณค่าทางโภชนาการเหมือนกัน เราจึงนิยมใช้ไขมันประกอบอาหารหลายอย่างเพื่อช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น
อาหารหลักหมู่ที่ 5 ไขมัน มีอยู่ 2 ประเภท
- อาหารหลักหมู่ที่ 5 ไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู มันวัว มันปลา สัตว์จะสะสมไขมันเหล่านี้ไว้ในอวัยวะต่างๆหลายแห่ง เช่น ในหมู ได้แก่ส่วนที่เราเรียกว่ามันแข็ง รอบๆอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ไจ จะมีไขมันหุ้มห่ออยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีไขมันบางส่วนแทรกอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อ
- ไขมันที่ได้จากพืช มีมากในส่วนที่เป็นเมล็ดแก่ๆ เช่น จากถั่วเหลือง ถั่วลิสง เมล็ดฝ้าย งา ฯลฯ และเรายังได้ไขมันจากส่วนอื่นๆ ของพืชนอกจากเมล็ด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก เป็นต้น
สารอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากสัตว์หรือพืชให้สารอาหารอย่างเดียวกัน คือ ไขมันเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าสารอาหารอื่นๆ และยังช่วยในการดูดซึมของวิตามินบางชนิด นอกจากนี้ การกใช้ไขมันในการประกอบอาหารจะช่วยให้รสชาติของอาหารดีขึ้น ไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันวัว ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันงา น้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น
ไขมัน หมายถึง สารอินทรีย์กลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถละลายได้ในน้ำ แต่ละลายได้ดีในน้ำมันและไขมันด้วยกัน ตัวอย่างของไขมันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคน คือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และคอเลสเทอรอล ส่วนใหญ่ของไขมันที่อยู่ในอาหาร คือ ไตรกลีเซอไรด์ ดังนั้น เมื่อพูดถึงไขมันเฉยๆ จึงหมายถึงไตรกลีเซอไรด์ แต่ละโมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ ประกอบด้วย กลีเซอรอล (glycerol) และกรดไขมัน (fatty acid) โดยกลีเซอรอลทำหน้าที่เป็นแกนให้กรดไขมัน ๓ ตัวมาเกาะอยู่ กรดไขมันทั้ง ๓ ชนิดอาจเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดก็ได้ ไตร-กลีเซอไรด์ที่สกัดจากสัตว์มีลักษณะแข็งเมื่อทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ส่วนไตรกลีเซอไรด์ที่สกัดจากเมล็ดพืชผลไม้เปลือกแข็งและปลามีลักษณะเป็นน้ำมัน
กรดไขมัน เป็นสารที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน กรดไขมันแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
- กรดไขมันไม่จำเป็น เป็นกรดไขมันที่นอกจากได้จากอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถสังเคราะห์ได้ด้วย เช่น กรดสเตียริก (stearic acid) กรดโอเลอิก (oleic acid)
- กรดไขมันจำเป็น เป็นกรดไขมันที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องได้จากอาหารที่กินเข้าไป มีอยู่ ๓ ตัวคือ กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) กรดไลโนเลนิก (linolenic acid) และกรดอะแรคิโดนิก (arachidonic acid) กรดไลโนเลอิกเป็นกรดไขมันจำเป็นที่พบมากที่สุดในอาหาร ส่วนกรดอะแรคิโดนิกนอกจากได้จากอาหารแล้ว ร่างกายยังสร้างได้จาก กรดไลโนเลอิก
หน้าที่ของไขมัน
ไขมัน มีความสำคัญในด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่เป็นตัวให้กำลังงาน ไขมัน ๑ กรัม ให้กำลังงาน ๙ กิโลแคลอรี ให้กรดไขมันจำเป็นช่วยในการดูดซึมของวิตามินเอ ดี อี และเค รสชาติของอาหารจะถูกปากต้องมีไขมันในขนาดพอเหมาะและช่วยทำให้อิ่มท้องอยู่นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไขมันไว้สำหรับให้กำลังงานเมื่อมีความต้องการ
อาหารที่ให้ไขมัน
ไขมัน นอกจากได้จากน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น มันหมู มันวัว น้ำมันพืชชนิดต่างๆ อาหารอีกหลายชนิดก็มีไขมันอยู่ด้วย เนื้อสัตว์ต่างๆ แม้มองไม่เห็นไขมันด้วยตาเปล่าก็มีไขมันแทรกอยู่ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และ เนื้อแกะ มีไขมันประมาณร้อยละ ๑๕ – ๓๐ เนื้อไก่มีประมาณร้อยละ ๖ – ๑๕ สำหรับเนื้อปลาบางชนิดมีน้อยกว่าร้อยละ ๑ บางชนิดมีมากกว่าร้อยละ ๑๒ ปลาบางชนิดมีไขมันน้อยในส่วนของเนื้อแต่ไปมีมากที่ตับ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันตับปลาได้ ในผักและผลไม้ มีไขมันน้อยกว่าร้อยละ ๑ ยกเว้นผลอะโวกาโด และโอลีฟ ซึ่งมีไขมันอยู่ถึงร้อยละ ๑๖ และ ๓๐ ตามลำดับ ในเมล็ดพืชและผลไม้เปลือกแข็งบางชนิดมีน้ำมันมาก สามารถใช้ความดันสูงบีบเอามาใช้ปรุงอาหารได้
ประโยชน์ของอาหารหลักหมู่ที่ 5
- ช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินเอ ดี อี และเค ได้ง่าย
- ให้พลังงานแก่ร่างกาย
- ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร
- ช่วยให้อิ่มนาน
อาหารหมู่นี้ให้พลังงานแก่ร่างกายมากกว่าอาหารหมู่อื่นๆในปริมาณที่เท่า ๆ กันเช่น น้ำมันหรือไขมัน 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานเท่ากับข้าวครึ่งจาน อาหารหลักหมู่ที่ 5